Extraordinary Attorney Woo กับหลักความเสมอภาค

ศุภกร ตันติสิทธิพร
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕

 

          เมื่อพูดถึงซีรีย์เกาหลีที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้น “Extraordinary Attorney Woo” หรือ “อูยองอู ทนายอัจฉริยะ” เป็นเรื่องราวของทนายความที่เป็นอัจฉริยะมีไอคิวสูง และเรียนจบนิติศาสตร์จากสถาบันชั้นนำโดยมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของชั้นเรียน แต่เธอมีภาวะแอสเพอร์เกอร์ซึ่งเป็นขั้นหนึ่งของออทิสติกสเปกตรัม (Autism spectrum disorder) เป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งมีพฤติกรรมและความสนใจที่เป็นแบบแคบจำกัดหรือเป็นแบบแผนซ้ำๆ บทความนี้จะชวนคิดว่าหากเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทนายความอย่างอูยองอูจะสามารถประกอบวิชาชีพทนายความ หรือสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือ อัยการผู้ช่วยได้หรือไม่

          ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ “หลักความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหลักการทางกฎหมายมหาชนที่สำคัญประการหนึ่ง และเป็นหลักการระดับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของบุคคลที่จะเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติต่อตนเท่าเทียมกับผู้อื่น (Right to equal treatment) รัฐจึงไม่อาจเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการจำกัดอำนาจรัฐมิให้รัฐใช้อำนาจล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามอำเภอใจ หลักความเสมอภาคมิได้เรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติกับทุกคนในลักษณะเดียวกันทั้งหมด แต่เรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญต่างกันให้แตกต่างไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ดังนั้นหากรัฐปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้แตกต่างกัน หรือ ปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญต่างกันให้เหมือนกันโดยไม่สมเหตุสมผล ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและขัดต่อหลักความเสมอภาค ซึ่งข้อพิจารณาที่สำคัญ คือต้องหาเกณฑ์ความแตกต่างที่มีน้ำหนักสำคัญระหว่างสิ่งสองสิ่งหรือหลายสิ่ง เพื่อมาพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้นมีสาระสำคัญเช่นเดียวกันหรือไม่ และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่

          หลักความเสมอภาค ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และ มาตรา ๒๗ วรรคสาม บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

          ตัวอย่างคดีที่สำคัญเกี่ยวกับหลักความเสมอภาค ได้แก่ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๔๒/๒๕๔๗ โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีประกอบวิชาชีพทนายความ แต่เป็นโปลิโอ รูปกายพิการ เดินขากะเผลก กล้ามเนื้อแขนลีบจนถึงปลายมือทั้งสองข้าง กล้ามเนื้อขาลีบจนถึงปลายเท้าทั้งสองข้าง กระดูกสันหลังคด และได้รับการผ่าตัดดามเหล็กที่กระดูกสันหลังไว้เพื่อให้ไหล่ทั้งสองข้างเท่ากัน ได้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการตำแหน่งอัยการผู้ช่วย แต่คณะกรรมการอัยการ(ผู้ถูกฟ้องคดี) มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นผู้มีบุคลิกภาพและร่างกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ ตามมาตรา ๓๓(๑๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.๒๕๒๑ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าแม้ตนเองสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์แต่สามารถปฏิบัติงานได้ มติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองโดยขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดี

          ศาลปกครองชั้นต้นในคดีนี้วินิจฉัยว่าสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นความแตกต่างถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานอัยการเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป ดังนั้นมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับสมัครเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผลแล้ว พิพากษายกฟ้อง อย่างไรก็ดีศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีในส่วนที่ไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบและเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี

          โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า “แม้สภาพร่างกายของผู้ฟ้องคดีจะพิการ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ถึงขั้นจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการ…การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี โดยมิได้พิจารณาถึงความสามารถที่แท้จริงในการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุผลหนักแน่นควรค่าแก่การรับฟังว่าการที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร มติของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบและเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี”

          คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป แต่สาระสำคัญของการรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการต้องพิจารณาถึงความสามารถในงานปฏิบัติงานในหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาเพียงแต่สภาพร่างกายทางกายภาพเท่านั้น ดังนั้นบุคคลที่แม้มีร่างกายพิการ แต่หากความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพของบุคคลนั้น ไม่เป็นอุปสรรคถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญในการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ และยังคงสามารถปฏิบัติงานได้ บุคคลดังกล่าวย่อมไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป จึงเป็นกรณีที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันที่รัฐไม่อาจปฏิบัติให้แตกต่างกันหรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุที่เป็นผู้พิการได้ในเรื่องนี้

          เมื่อเปรียบเทียบกับทนายอูยองอูที่เป็นออทิสติกสเปกตรัม เธอมีปัญหาด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม ผู้คนทั่วไปหรือเพื่อนร่วมงานต่างมองเธอว่าแปลกและแตกต่างจากคนทั่วไป รวมทั้งตัดสินไปก่อนแล้วว่าเธอคงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะว่าความได้ แต่ความจริงแล้วแม้เธอจะพูดจาและมีท่าทางตะกุกตะกักไม่เป็นธรรมชาติไปบ้าง แต่ก็มิได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสามารถในการว่าความของเธอแต่อย่างใด เธอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความได้ไม่แตกต่างจากทนายความทั่วไป ดังคำพูดของเธอที่กล่าวในศาลตอนหนึ่งว่า “ฉันมีอาการออทิสติกสเปกตรัม ในสายตาของทุกท่าน ฉันอาจจะพูดตะกุกตะกักและแสดงท่าทีไม่เป็นธรรมชาติ แต่ฉันรักกฎหมาย และความเคารพต่อจำเลยที่ฉันมีไม่ต่างไปจากทนายความคนอื่น”

          ดังนั้นในการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการหรือแม้กระทั่งการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานในภาคเอกชน จำเป็นต้องพิจารณาถึงความสามารถในการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆเป็นสำคัญ บุคคลที่มีกายพิการหรือสภาพทางกายภาพไม่สมบูรณ์เช่นบุคคลทั่วไป แต่หากความพิการหรือสภาพทางกายของบุคคลนั้นไม่เป็นอุปสรรคถึงขนาดกระทบต่อสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะตัดสิทธิ ไม่รับสมัครบุคคลดังกล่าวเข้าทำงาน เช่นเดียวกับทนายอูยองอูที่แม้จะเป็นออทิสติกสเปกตรัม แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรครุนแรงต่อสาระสำคัญของการทำหน้าที่ในฐานะทนายความแต่อย่างใด

 


 

[1] ศศิธร จันทรทิณ, “มารู้จัก…ภาวะออทิสติก” อ้างถึงใน วิวิศนา อับดุลราฮิม, “อูยองอู : ซีรีส์ที่จะเปลี่ยนภาพจำความพิการ เมื่อวาฬทุกตัวแตกต่างกัน” (sarakadeelite) <www.sarakadeelite.com/lite/extraordinary-attorney-woo/> สืบค้นเมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕

[2] วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ข้อความคิดและหลักการพื้นฐานบางประการของกฎหมายปกครอง (พิมพ์ครั้งที่ ๓, สำนักพิมพ์วิญญูชน ๒๕๖๒) ๕๒.

[3] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครองภาคทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ ๑, สำนักพิมพ์นิติราษฎร์ ๒๕๕๔) ๖๔.

[4] กลไกหรือมาตรการในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ปรากฏในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใด กำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติ ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ตามมาตรา ๑๕ และหากมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในลักษณะดังกล่าวแล้ว คนพิการที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้ ตามมาตรา ๑๖ และไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด รวมทั้งค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน และค่าเสียหายในเชิงลงโทษในกรณีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอีกด้วย

มาตรา ๑๕  การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการจะกระทำมิได้

การกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการกระทำหรืองดเว้นกระทำการที่แม้จะมิได้มุ่งหมายให้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการโดยตรง แต่ผลของการกระทำนั้นทำให้คนพิการต้องเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับเพราะเหตุแห่งความพิการด้วย

การเลือกปฏิบัติที่มีเหตุผลทางวิชาการ จารีตประเพณี หรือประโยชน์สาธารณะสนับสนุนให้กระทำได้ตามความจำเป็นและสมควรแก่กรณี ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่ผู้กระทำการนั้นจะต้องจัดให้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาหรือรักษาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์แก่คนพิการตามความจำเป็นเท่าที่จะกระทำได้

มาตรา ๑๖  คนพิการที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการตามมาตรา ๑๕ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้ คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

การร้องขอตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ร้องในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาลที่มีเขตอำนาจ โดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายอย่างอื่น อันมิใช่ตัวเงินให้แก่คนพิการที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้ และหากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการนั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลจะกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษให้แก่คนพิการไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงด้วยก็ได้

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร้องขอ การรวบรวมพยานหลักฐาน การไกล่เกลี่ยและการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งคณะกรรมการอาจจัดให้มีคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการปฏิบัติหน้าที่แทนได้  ทั้งนี้ องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และค่าตอบแทนของคณะอนุกรรมการหรือผู้ไกล่เกลี่ยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๗  ในการใช้สิทธิตามมาตรา ๑๖ คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการอาจขอให้องค์กรด้านคนพิการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ร้องขอหรือฟ้องคดีแทนได้

การฟ้องคดีตามมาตรา ๑๖ วรรคสอง ไม่ว่าคนพิการเป็นผู้ฟ้องเองหรือองค์กรด้านคนพิการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ฟ้องแทน ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม