การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง

การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง

การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้

มาตรา 73 “การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด
คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด
ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สุด”

มาตรา 74 “เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลปกครองต่างชั้นกันในประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกัน ขัดหรือแย้งกันให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลปกครองชั้นต้นด้วยกันมีการขัดหรือแย้งกันในประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกัน คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีคำสั่งกำหนดว่าจะให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งใด คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด”

ข้อพิจารณา

1. เมื่อคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคำสั่ง โดยให้ยื่นคําอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคําพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
2. ในการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดจะมีอำนาจในการ ยกอุทธรณ์ หรือ ยืน กลับ แก้ คําพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น รวมทั้งมีอำนาจสั่งยกคําพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นแล้วส่งสํานวนคดีคืนไปให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีใหม่
3. กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคําอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้
4. คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุด
5. เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลปกครองต่างชั้นกันในประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันขัดหรือแย้งกัน ให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
6. เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลปกครองต่างชั้นกันในประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันขัดหรือแย้งกัน ให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดว่าจะให้ถือเอาตามคำพิพากษาหรือคำสั่งใด และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สุด