เหตุเพลิงไหม้ Mountain B Pub

โศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นกับ Mountain B Pub เมื่อวัน ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๑.๐๐ น. มีข้อเท็จจริงคล้ายคลึงกับเหตุการเพลิงไหม้ของ “ซานติก้าผับ” เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและระบบการป้องกันอัคคีภัยไม่ได้มาตรฐานตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้เช่นเดียวกับซานติก้าผับ จึงได้มีการตรากฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อกำหนดประเภทอาคารสถานบริการและมาตรฐานด้านต่าง ๆ เช่น วัสดุอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันเพลิงไหม้ การกำหนดทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ ระบบการระบายอากาศ การกำหนดผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการตรวจสอบอาคาร และการแก้ไขความปลอดภัยโดยคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเหตุเพลิงไหม้ของ Mountain B Pub มีประเด็นเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

 ๑. หลักฐานทางทะเบียนของ Mountain B Pub แสดงให้เห็นว่ามีการจดทะเบียนประกอบกิจการ “ร้านอาหารและจำหน่ายสุรา” โดยถือว่าการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบกิจการร้านอาหารและขออนุญาตจำหน่ายสุราร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่การขออนุญาตประกอบกิจการสถานบันเทิงตามพระราชบัญญัติสถานบริการ ­

 ๒. ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายโดยยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง หลังการเกิดเหตุเพลิงไหม้ Mountain B Pub เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ โดยจากการตรวจสอบระบบไฟฟ้าพบว่า การเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ การเดินสายระบบไฟฟ้า ระบบเสียง และระบบสัญญาณต่าง ๆ ไม่ได้เดินในรางหรือท่อร้อยสายไฟซึ่งทำด้วยโลหะ¹ ซึ่งการเดินสายระบบไฟฟ้าในอาคารของ Mountain B Pub มีลักษณะเป็นการเดินสายไฟเปลือยบนฝ้าในบริเวณเดียวกับที่ติดตั้งแผ่นโฟมซับเสียงซึ่งเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายเมื่อเกิดประกายไฟเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ระบบไฟฟ้าของ Mountain B Pub จึงไม่มีความปลอดภัยตามที่กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕ กำหนด

๓. ภายในอาคาร Mountain B Pub ยังมีข่าวลือว่าไม่มีการติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตาม ข้อ ๒๖ แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕²

๔. ภายในอาคาร Mountain B Pub มีข่าวแพร่หลายว่ามีทางออกทั้งหมด ๓ ทางได้แก่ ทางเข้าออกด้านหน้าอาคาร ทางออกหลังเวที และทางออกด้านข้างสำหรับใช้ขนเครื่องดื่ม โดยในวันเกิดเหตุพบว่ามีผู้ใช้บริการโดยประมาณตั้งแต่ ๕๑ คน ถึง ๒๐๐ คน ซึ่งตามข้อ ๒๘ แห่งกฎกระทรวงฯ พ.ศ. ๒๕๕๕³ กำหนดว่าจำนวนคนตั้งแต่ ๕๑ คน ถึง ๒๐๐ คน จะต้องมีจำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่าสองทาง แต่ใน Mountain B Pub มีเพียงทางออกเดียวที่สามารถใช้ได้จริงคือ ทางเข้าออกด้านหน้าอาคาร เนื่องจากทางออกด้านหลังเวทีถูกล็อคจากด้านนอกทำให้ไม่สามารถออกจากอาคารได้ ส่วนทางออกด้านข้างสำหรับใช้ขนเครื่องดื่มนั้นไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้งานจึงไม่มีผู้ใดรู้ว่ามีทางออกด้านข้างด้วย และทางออกด้านหน้าอาคารที่ใช้ได้จริงอยู่เพียงทางออกเดียวนั้น ยังมีการสร้างฉากกั้นบริเวณใกล้ทางออกดังกล่าวไว้ส่วนหนึ่งทำให้ทางเดินไปสู่ทางออกจริงแคบลงและเมื่อเกิดความชุลมุนจากเหตุเพลิงไหม้ คนในอาคารจึงไม่สามารถออกจากอาคารได้ทันท่วงทีโดยมีผู้เสียชีวิตในบริเวณดังกล่าวถึง ๔ คน และตามข่าวแพร่หลายยังพบอีกว่าอาคารใน Mountain B Pub มีการสร้างชั้นลอยซึ่งบนชั้นลอยจะต้องมีจำนวนทางออกหรือประตูทางออกในชั้นลอยอย่างน้อย ๑ แห่ง ดังนั้น Mountain B Pub จึงไม่ได้จัดให้มีจำนวนทางออกและประตูทางออกในสถานบริการที่สอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการ

กล่าวโดยสรุป Mountain B Pub กระทำที่ผิดกฎหมายสำคัญ ๓ ประการได้แก่ การตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต การก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และการจัดให้มีระบบความปลอดภัยของอาคารโดยไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิตหลายราย ดังนั้น ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าของกิจการ Mountain B Pub และสามารถใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาได้ นอกจากนี้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังต้องรับผิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติการตรวจสอบการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารที่เกิดในท้องที่ของตน ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ.๒๒๒/๒๕๕๘ (คดีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ)

 


[1] พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้า ดังต่อไปนี้

(๑) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ

(๒) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า

(๓) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า แต่ไม่รวมถึง

(ก) สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

(ข) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือ

(ค) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๔) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า

(ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า

(ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม

(ง) มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๕) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา

(๖) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย และกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

“พนักงานเจ้าหน้าที่” สำหรับกรุงเทพมหานคร หมายความถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในจังหวัดอื่น หมายความถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด

[2] พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙

มาตรา ๔  ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ในการพิจารณาอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คำนึงถึงประวัติการกระทำความผิดต่อกฎหมายของผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการประกอบด้วย

หลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่งและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประวัติการกระทำความผิดต่อกฎหมายของผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการตามวรรคสอง รวมทั้งการขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

[3] พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

“สถานบริการ” หมายความว่า อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้ประกอบกิจการเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ….

[4] พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒

มาตรา ๒๑ ผู้ใดจะก่อสร้างดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาต จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดําเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ

[5] กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕

ข้อ ๒๒ การเดินสายระบบไฟฟ้า ระบบเสียง และระบบสัญญาณต่าง ๆ ให้เดินในรางหรือท่อร้อยสายไฟซึ่งทำด้วยโลหะ

[6] กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕

ข้อ ๒๖ สถานบริการต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้มี ๑ เครื่องต่อพื้นที่สถานบริการไม่เกิน ๒๐๐ ตารางเมตรแต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ ๒ เครื่อง โดยการติดตั้งให้กระจายครอบคลุมทั้งพื้นที่สถานบริการ สำหรับประเภท ขนาด และสมรรถนะของเครื่องดับเพลิงดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง

การติดตั้งเครื่องดับเพลิงต้องติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร โดยส่วนล่างสุดของทุกเครื่องต้องสูงไม่น้อยกว่า ๐.๑๐ เมตร ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนหรือใช้ป้ายเครื่องหมายแสดงที่ตั้งของเครื่องดับเพลิงที่มองเห็นได้ซัดเจน รวมถึงสามารถอ่านคำแนะนำการใช้ได้ และสามารถเข้าใช้สอยได้โดยสะดวก

 

กุลธิดา เกิดแก่นแก้ว

ทนายความผู้รับผิดชอบ