เกร็ดความรู้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.398/2564

              คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีคือ บริษัท พรพิบูลย์ 1111 จำกัด  ผู้ถูกฟ้องคดีคือ องค์การบริหารส่วนตำบลสิบเอ็ดศอก โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้ตกลงทำสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดีในการปรับปรุงถนน ซึ่งในสัญญาจ้างระบุวันเริ่มสัญญาคือวันที่ 10 เมษายน 2560  และสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีดำเนินการปรับปรุงถนนจนเสร็จสิ้น ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือ ลงวันที่ 24 เมษายน 2560 ขอส่งมอบงานและเบิกจ่ายเงินค่าจ้างทั้งหมด คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงได้เข้าตรวจผลงานในวันที่ 27 เมษายน 2560 และมีความเห็นว่าปริมาณงานเป็นไปตามสัญญา แต่ด้านคุณภาพไม่สามารถตรวจรับได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านงานช่างที่เกี่ยวกับใบรับรองวัสดุแอสฟัลต์ ประกอบกับผู้รับจ้างได้ปูถนนแอสฟัลต์ในช่วงเดือนเมษายน 2560  แต่ใบรับรองคุณภาพกำหนดให้ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 มีนาคม 2560 และยังไม่เบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ อบต. ชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด

              ระหว่างพิจารณาคดี คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานแขวงทางหลวงชนบทโดยได้รับคำแนะนำว่าตามปกติแอสฟัลต์จะมีอายุใช้งานประมาณ 1 ปี สำหรับใบรับรองคุณภาพที่ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 มีนาคม 2560 หมายความว่า แอสฟัสต์ที่ผลิตภายในวันที่ดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมทางหลวงแล้ว ไม่ได้หมายความว่าหมดอายุการใช้งานภายหลังเวลาดังกล่าว

              คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงมีมติรับงานจ้างเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560[1] เป็นระยะเวลา 39 วันนับแต่วันส่งมอบงาน

              จากข้อเท็จจริงข้างต้น เมื่อพิจารณาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 65 กำหนดให้คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่ตรวจผลงานที่ผู้รับจ้างส่งมอบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบการส่งมอบงาน และให้ทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วที่สุด[2] ซึ่งจะเห็นได้ว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดเพียงระยะเวลาเริ่มตรวจผลงานเท่านั้น โดยไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องตรวจผลงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเท่าใด เพียงแต่ต้องทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

              คดีนี้ คณะกรรมการตรวจการจ้างใช้ระยะเวลาถึง 39 วันในการตรวจรับงานโดยอ้างเหตุเคลือบแคลงในคุณภาพผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์จึงต้องขอคำปรึกษาหน่วยงานราชการต่างๆก่อน ทั้งที่ อบต. มีกองช่างที่มีความรู้ด้านดังกล่าวซึ่งสามารถให้ข้อมูลได้ อีกทั้งอายุการใช้งานของแอสฟัลต์เป็นความรู้ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ควรแสวงหาข้อมูลไว้ล่วงหน้าหรืออย่างช้าที่สุดก่อนการส่งมอบงาน ความล่าช้าดังกล่าวจึงไม่ได้มีเหตุมาจากความผิดของผู้ฟ้องคดี อบต.ผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้[3]

              จากข้อเท็จจริงคดีนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า การตรวจรับงานของคณะกรรมการตรวจการจ้างไม่เพียงแต่ต้องตรวจปริมาณงานและคุณภาพให้ตรงตามสัญญาเท่านั้น แต่จะต้องทำการตรวจรับให้เสร็จโดยเร็วที่สุดด้วย ซึ่งคำว่า “ตรวจรับให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด” ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 65 นั้น เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจการจ้างที่จะต้องพิจารณาตรวจผลงานภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับประเภทและลักษณะงานที่จ้างรวมทั้งพฤติการณ์อื่นๆประกอบด้วย แต่มิใช่จะใช้ระยะเวลาตรวจงานเท่าใดก็ได้

              นอกจากนี้คดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองมีลักษณะสำคัญแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่สัญญาทางปกครองมีสถานะเป็นการกระทำทางปกครองอย่างหนึ่ง และเนื่องจากสัญญาทางปกครองจะต้องมีการแสดงเจตนายอมรับผูกพันตนตามสิทธิและหน้าที่ระหว่างฝ่ายปกครองและเอกชน จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับสัญญาในทางแพ่งอีกส่วนหนึ่ง[4] ดังนั้นเมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเกิดขึ้น จะต้องนำทั้งกฎหมายปกครองและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้แก่กรณีด้วย ดังเช่นกรณีนี้ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการผิดสัญญาและการผิดนัดชำระหนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้กับกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ดาวน์โหลดไฟล์คำพิพากษา

 

กุลธิดา งานสัมพันธฤทธิ์

ศุภกร ตันติสิทธิพร

Lawyer, STATO Public Law
25 สิงหาคม 2565


 

[1] สรุปข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.398/3564

[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535

[3] นายปกครอง, ผิดนัดชำระหนี้ เพราะกรรมการตรวจรับงานนานถึง ๓๙ วัน!!, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565, จาก https://admincourt.go.th/admincourt/upload/webcms/Academic/Academic_210422_101950.pdf

[4] มานิตย์ วงศ์เสรี, นิติวิธีว่าด้วยสัญญาทางปกครอง, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2565), หน้า 23