หลักการพื้นฐานทางกฎหมายปกครองที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ศุภกร ตันติสิทธิพร

๓ สิงหาคม ๒๕๖๕

 

              จากกรณีศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว และพิพากษาเพิกถอนประกาศ  ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวน เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น[1] ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลปกครองกลาง บทความฉบับนี้จะชี้ให้เห็นหลักการพื้นฐานในทาง กฎหมายปกครองที่น่าสนใจบางประการอันปรากฏในคำพิพากษาคดีนี้[2]

              การที่ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจเข้ากระทำการใด อาจกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของเอกชนได้เสมอ ดังนั้นเพื่อเป็นการจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองมิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ และ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกระทำของฝ่ายปกครองย่อมต้องตกอยู่ภายใต้ หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง กล่าวคือ ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆที่มีผลเป็นการจำกัดหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจ และ จะต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น[3]

              ในแง่นี้กฎหมายจึงเป็นทั้งแหล่งที่มาของอำนาจกระทำการของฝ่ายปกครอง และในขณะเดียวกันกฎหมายเป็นข้อจำกัดขอบเขตของการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองด้วย ดังนั้นหากฝ่ายปกครองใช้อำนาจกระทำการใดที่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ หรือ เกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การกระทำดังกล่าวนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

              ดังความตอนหนึ่งของคำพิพากษาคดีนี้ซึ่งมีเนื้อหาว่า “แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว แต่มิใช่จะมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนในทุกกรณี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะใช้อำนาจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกประกาศเชิญชวนดังกล่าวได้ต่อเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดให้ออกคำสั่งยกเลิกได้เกิดขึ้น และแม้การออกมติและประกาศดังกล่าวจะเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนอันถือเป็นประโยชน์สาธารณะตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้าง แต่ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดหรือรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่อยู่ในเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการออกคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกประกาศเชิญชวนดังกล่าว...”

              ตามนัยนี้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะใช้อำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกประกาศเชิญชวนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจในการยกเลิกไว้ และต้องใช้อำนาจภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ตามหลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ ซึ่งศาลปกครองกลางในคดีนี้เห็นว่ามีกฎหมายกำหนดให้  ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกประกาศเชิญชวน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีอำนาจกระทำการดังกล่าว อย่างไรก็ดีแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกประกาศเชิญชวนตามกฎหมายก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจใช้อำนาจยกเลิกการคัดเลือกได้ทุกกรณี จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

              กฎหมายซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจกระทำการของฝ่ายปกครอง ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ องค์ประกอบส่วนเหตุซึ่งกำหนดข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของการใช้อำนาจ และ องค์ประกอบส่วนผลทางกฎหมาย[4] หากมีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของการใช้อำนาจเกิดขึ้น ย่อมก่อให้เกิดผลตามที่กฎหมายกำหนด

              โดยหลักฝ่ายปกครองต้องผูกพันตนต่อกฎหมายอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบส่วนเหตุเกิดขึ้น ฝ่ายปกครองไม่มีสิทธิเลือกหรือตัดสินใจในการกำหนดผลทางกฎหมายอย่างอิสระ  มีเพียงหน้าที่ต้องผูกพันใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ในบางกรณีความผูกพันตนต่อกฎหมายของฝ่ายปกครองผ่อนคลายลง โดยฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจ สามารถเลือกปฏิบัติและตัดสินใจด้วยตนเองภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย และไม่ว่าฝ่ายปกครองจะตัดสินใจแนวทางใด ย่อมชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น[5] ทั้งนี้เพื่อทำให้การใช้กฎหมายไม่แข็งกระด้างสามารถยืดหยุ่นปรับให้สอดคล้องและเป็นธรรมกับข้อเท็จจริงเฉพาะรายได้[6]

              อย่างไรก็ดีการที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจมิได้หมายความว่าฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ ในทางตรงกันข้ามฝ่ายปกครองยังคงต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ขอบเขตกฎหมายที่ให้อำนาจและภายในวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการใช้อำนาจดุลพินิจยังคงตกอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง เพียงแต่ผ่อนคลายระดับความผูกพันตนต่อกฎหมายของฝ่ายปกครองลงมา

              คำพิพากษาคดีนี้ปรากฏหลักการใช้อำนาจดุลพินิจในความตอนหนึ่งที่ยกมาข้างต้น ซึ่งวินิจฉัยว่าแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกประกาศเชิญชวน แต่มิใช่ว่าจะมีอำนาจดุลพินิจยกเลิกได้ทุกกรณี ผู้ถูกฟ้องคดียังต้องคำนึงถึงบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ด้วย และ  ความอีกตอนหนึ่งของคำพิพากษาฉบับนี้มีว่า แม้ประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จะมีข้อสงวนสิทธิ์ดุลพินิจในการยกเลิกการประกาศเชิญชวนหรือยกเลิกการคัดเลือก เป็นเพียงข้อสงวนสิทธิ์ ในการยกเลิกประกาศเชิญชวนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนไว้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆได้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และ ออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนในทุกกรณี โดยมิต้องพิจารณาว่าการออกมติและประกาศดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้หรือไม่แต่อย่างใด ตามนัยนี้ย่อมหมายความว่าการใช้อำนาจดุลพินิจออกมติและประกาศยกเลิกยังคงต้องพิจารณากฎหมายที่ให้อำนาจไว้ด้วย สะท้อนหลักการใช้อำนาจดุลพินิจที่ต้องคำนึงถึงกฎหมายที่ให้อำนาจและวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว มิใช่จะใช้อำนาจดุลพินิจอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ การใช้อำนาจดุลพินิจจึงยังต้องตกอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองด้วย

            การใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครอง อาจมีกรณีที่ใช้อำนาจดุลพินิจบกพร่องผิดพลาด หรือ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบได้ ซึ่งการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบปรากฏตัวได้หลายลักษณะดังต่อไปนี้[7]

๑)   การใช้ดุลพินิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ กรณีที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจดุลพินิจตัดสินใจเลือกกำหนดผลทางกฎหมายเกินกว่าขอบเขตของกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นกำหนดไว้

๒)   การไม่ใช้ดุลพินิจ คือ กรณีที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของการใช้อำนาจเกิดขึ้น โดยหลักแล้ว ฝ่ายปกครองผูกพันจะต้องใช้ดุลพินิจ แต่ฝ่ายปกครองไม่ใช้อำนาจดุลพินิจนั้น

๓)   การใช้ดุลพินิจบิดเบือน คือ การใช้ดุลพินิจโดยไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือไม่ได้นำเอาประโยชน์สาธารณะและประโยชน์เอกชนมาพิจารณาชั่งน้ำหนักอย่างเพียงพอ หรือนำประโยชน์ส่วนตัว มาเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจ

๔)   การใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คือ กรณีที่ฝ่ายปกครองไม่คำนึง ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้ดุลพินิจขัดต่อหลักความเสมอภาค[8]

๕)   การใช้ดุลพินิจขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป คือ กรณีที่ฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึง หลักการรากฐานของนิติรัฐ เช่น การใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วน[9]

              เหตุสำคัญที่ทำให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติและประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนของผู้ถูกฟ้องคดี คือ ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าการออกมติและประกาศยกเลิกของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองกลางใช้เกณฑ์ในการพิจารณาว่าการใช้อำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นไปเพื่อให้บรรลุซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมาตรา ๖[10] และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ หรือไม่     ตามนัยนี้ย่อมสะท้อนว่าศาลปกครองกลางกำลังตรวจสอบว่ากรณีนี้ฝ่ายปกครองได้ใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่ฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจโดยบิดเบือน อันเป็นเหตุให้การใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

              ศาลปกครองกลางเห็นว่าแม้การออกมติและประกาศยกเลิกของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน รวมถึงแก้ปัญหาความล่าช้า อันเป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ตามมาตรา ๖ (๑) และ เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ ก็ตาม แต่ยังคงต้องพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้บรรลุประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ประการอื่นตามมาตรา ๖ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่าง    รัฐและเอกชนหรือไม่ ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่ากรณีนี้ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีความจำเป็นหรือ   มีเหตุสมควรที่จะใช้วิธีการยกเลิกการคัดเลือกและยกเลิกประกาศเชิญชวน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า   การไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนจนแล้วเสร็จ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีค่าใช้จ่ายจากการบำรุงรักษา และความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการแต่อย่างใด รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกมติและประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน ทั้งที่ยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าวซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ย่อมเป็นการกระทำที่มิได้คำนึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการร่วมลงทุน จึงไม่เป็นไปตามหลักพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมาตรา ๖(๕) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒

              การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่มีเหตุสมควรและจำเป็นที่จะทำให้บรรลุซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามมาตรา ๖ และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ..๒๕๖๒ อย่างครบถ้วน การออกมติและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยนี้จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองกลางเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายอันเป็นการใช้ดุลพินิจบกพร่องผิดพลาดประเภทการใช้ดุลพินิจโดยบิดเบือน

              นอกจากนี้การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองยังต้องตกอยู่ภายใต้หลักกฎหมายทั่วไป เช่น   หลักความพอสมควรแก่เหตุอีกด้วย ซึ่ง หลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุ เป็นหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐและผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ โดยเรียกร้องให้ผู้ใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐอย่างพอเหมาะพอประมาณ (moderation)[11] และหลักการนี้เป็นหลักกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นหลักการย่อยที่สำคัญของหลักนิติรัฐที่เรียกร้องให้การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ[12] หลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุ ประกอบไปด้วย ๓ หลักการย่อย ได้แก่ หลักความเหมาะสม หลักความจำเป็น และ หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ

              หลักการดังกล่าวปรากฏตัวในคำพิพากษาคดีนี้ว่า “หากการออกคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกและประกาศเชิญชวนดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องออกคำสั่งโดยคำนึงถึงความสมเหตุสมผลและความจำเป็นเพื่อให้การบังคับใช้ตามคำสั่งดังกล่าวสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและคุ้มต่อความเสียหายที่จะตกแก่ประชาชน

              โดยสรุปแล้วการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง แม้เป็นการใช้อำนาจดุลพินิจแต่มิได้หมายความว่าฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ฝ่ายปกครองต้องใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงขอบเขตของกฎหมาย วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ และไม่ให้ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปด้วย มิเช่นนั้นอาจทำให้เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ   ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง และทำให้การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ในท้ายที่สุด

 


 

[1] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๕๕/๒๕๖๕

[2] อนึ่ง ขณะเขียนบทความ คดีนี้อยู่ในระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์

[3] วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ข้อความคิดและหลักการพื้นฐานบางประการของกฎหมายปกครอง (พิมพ์ครั้งที่ ๓, สำนักพิมพ์วิญญูชน ๒๕๖๒) ๓๗.

[4] เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล, “การควบคุมดุลพินิจของฝ่ายปกครองโดยศาลไทย” (วิทยานิพนธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

[5] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครองภาคทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ ๑, สำนักพิมพ์นิติราษฎร์ ๒๕๕๔) ๗๕-๗๖.

[6] สมยศ เชื้อไทย, “การกระทำทางปกครอง”, วารสารนิติศาสตร์ ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๑๗ (กันยายน ๒๕๓๐) ๕๗ .

[7] กมลชัย รัตนสกาววงศ์, “ความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับดุลพินิจฝ่ายปกครองของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน” อ้างถึงใน บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย, “การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง: กรณีศึกษาการปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๙”(๒๕๖๐)  วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๑๐ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐)

[8] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง: หลักการพื้นฐานในกฎหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง,               (พิมพ์ครั้งที่ ๓, วิญญูชน ๒๕๔๙)

[9] วรเจตน์ ภาคีรัตน์ , เรื่องเดียวกัน

[10] มาตรา ๖  การดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ดังต่อไปนี้

(๑) ความสอดคล้องกับแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน

(๒) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งต้องมีการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่เอกชนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุนและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการร่วมลงทุน

(๓) การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ

(๔) การใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะของโครงการร่วมลงทุน และการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ

(๕) ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง

(๖) สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการร่วมลงทุน

[11] วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, คำอธิบายกฎหมายปกครอง, เอกสารประกอบคำบรรยาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๘-๓๒

[12] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อ้างแล้ว, ๕๘.