สาระกฎหมายมหาชน จากซีรีส์ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ (Extraordinary Attorney Woo) เมื่อประโยชน์สาธารณะปะทะกับประโยชน์สาธารณะ

ชมพูนุท คำทองดี
Chompunut Khumthongdee
Lawyer, STATO Public Law Firm
31 August 2022

 

              จบไปแล้วสำหรับ ซีรีส์ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ซีรีส์น้ำดีที่สอดแทรกทั้งเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ และการต่อสู้กับสังคมที่ตั้งคำถามว่าผู้ที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม[1] จะสามารถเป็นทนายความได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้นำเสนอแง่มุมของกฎหมายให้กับผู้ชมได้ในหลายมิติมุมมอง จนเรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ที่นักกฎหมายหลายท่านติดตามและจัดเก็บไว้ในรายการโปรด

              โดยหนึ่งในสาระกฎหมายที่น่าสนใจจากซีรีส์ดังกล่าวที่จะหยิบมาเล่าในบทความนี้มาจากตอนที่ ๑๓ และ ๑๔ ที่มีชื่อตอนว่า “คืนสีครามในเชจู” ซึ่งเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักของศาลเมื่อคดีที่พิพาทเป็นเรื่องการปะทะกันระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์สาธารณะด้วยกันเอง โดยในตอนดังกล่าวเป็นกรณีที่ทนายอูยองอูว่าความในคดีเรียกร้องผลกำไรที่ไม่เป็นธรรม จากการที่ฮวังจีซาซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เรียกเก็บค่าผ่านทางจำนวน ๓,๐๐๐ วอน จากผู้สัญจรที่ใช้ทางหลวงชนบน หมายเลข ๓๐๐๘ ที่ตัดผ่านฮวังจีซา แม้ว่าผู้ที่ใช้ทางหลวงดังกล่าวจะมิได้เข้าชมสถานที่ดังกล่าวเลยก็ตาม ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินเรื่องนั้นเต็มไปด้วยความเป็นต่อของฝ่ายฮวังจีซา เนื่องจากการนำสืบในศาลได้ความว่า การเก็บค่าผ่านทางของฮวังจีซาเป็นการกระทำที่มีกฎหมายรับรองตามกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ยิ่งไปกว่านั้นพยานผู้เชี่ยวชาญยังให้การว่า คำว่า “มรดกทางวัฒนธรรมของฮวังจีซา” ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เหมือนอย่างรูปวาดในพิพิธภัณฑ์ แต่หมายความรวมถึง ศาลาและวัดเล็ก ๆ ทั้งหมด ที่อยู่ในบริเวณของวัด รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย ดังนั้น มรดกทางวัฒนธรรมจึงรวมถึงบริเวณที่ทางหลวงชนบทหมายเลข ๓๐๐๘ ตัดผ่านด้วย โดยปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าในขณะที่มีการก่อสร้างถนนนั้นฝ่ายฮวังจีซาได้มีการคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากการตัดถนนผ่านบริเวณดังกล่าว จะทำลายทั้งสภาพแวดล้อมของวัด รบกวนการปฏิบัติธรรม ทำลายสัตว์ป่า รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งหมดโดยรอบ เนื่องจากมีการโค่นต้นไม้เพื่อสร้างถนน แต่การคัดค้านดังกล่าวนั้นได้ล้มเลิกไป เนื่องจากทางการแจ้งว่าฮวังจีซาจะสามารถเรียกเก็บค่าผ่านทางเพื่อใช้ในการทะนุบำรุงวัดได้

              อย่างไรก็ตาม ทนายอูยองอูพลิกกลับมาเป็นฝ่ายชนะคดีโดยพิจารณาจากแก่นแท้ที่ว่า วัตถุประสงค์ของทางหลวงชนบน หมายเลข ๓๐๐๘ คือ การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ใดก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เพื่อคมนาคมสัญจร จึงไม่อาจเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่ใช้ถนนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ โดยมิได้มองอย่างบิดเบือนว่าถนนดังกล่าวเป็นถนนที่ตัดผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่ฮวังจีซาจะได้รับประโยชน์จากการสร้างถนนนี้ [2]

              จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นการปะทะกันระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ ฝั่งประชาชนที่ควรจะได้ใช้ถนนซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่มีค่าผ่านทางกับฝั่งฮวังจีซาที่ควรจะได้รับเงินค่าเข้าชมเมื่อมีผู้เข้ามายังบริเวณพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมเพื่อนำเงินส่วนนั้นมาใช้ในการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ ซึ่งโดยปกติหากเกิดข้อเท็จจริงในลักษณะเช่นนี้ ข้อพิจารณาที่ศาลมักจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือ เมื่อชั่งน้ำหนักของผลกระทบและความเสียหายแล้ว ประโยชน์ส่วนรวมที่จะเกิดขึ้นสิ่งใดมีค่ามากกว่ากัน[3] โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งในขณะปัจจุบันและอนาคต[4] ยกตัวอย่างเช่น กรณีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกอันนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ จนให้เกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในอีกหลายสิบปีข้างหน้า แม้จะไม่มีผลในขณะปัจจุบัน แต่หากปล่อยให้การกระทำต่อไปจะเกิดผลเสียในอนาคต การพิจารณาเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจึงต้องอาศัยการตีความที่มีพลวัต[5] และคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ของประโยชน์ที่เกิดขึ้นประกอบด้วยเสมอ โดยคำว่า “ส่วนรวม” นั้น มิได้พิจารณาแต่เฉพาะปัจจัยจำนวนคนเป็นส่วนมากเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจำนวนความประสงค์ของคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้เป็นสาธารณะประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงแง่มุมที่หลากหลายของประโยชน์สาธารณะ[6] เช่น ความมั่นคงและความปลอดภัยของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้การชั่งน้ำหนักประโยชน์อาจต้องพิจารณาในมุมที่ยึดโยงกับหลักการตามระบอบประชาธิปไตย[7] กล่าวคือ เมื่อการดำเนินการมุ่งคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่ง อาจสร้างความเสียหายให้แก่บางกลุ่มในพหุสังคม แต่เมื่อการนั้นยังเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืน กลุ่มคนที่เห็นต่างก็ต้องยอมรับผล อย่างไรก็ตามจะต้องกระทำควบคู่ไปกับการเคารพและคุ้มครองสิทธิของฝ่ายที่ต้องเสียหายเพราะการดำเนินการนั้น ๆ ด้วย รวมไปถึงการพิจารณาเพื่อชั่งน้ำหนัก จะต้องพิจารณาในแง่ของเจตนารมณ์ของกฎหมาย[8] ดังที่ปรากฏในซีรีส์อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ที่พิเคราะห์ลงไปถึงในแง่ของเจตนารมณ์ที่ว่า “ถนน” โดยเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์มีเพื่อให้ประชาชนใช้คมนาคมสัญจรร่วมกัน และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะถือเอาประโยชน์ไม่ได้

              ในท้ายที่สุดแม้ฝั่งของทนายอูยองอูจะเป็นฝ่ายที่ชนะคดี แต่ก็มิได้ปล่อยให้ฝั่งที่แพ้คดีต้องรับผลกระทบจากการแพ้คดีอย่างสิ้นหวัง กลับเสนอตัวให้ความช่วยเหลือฝั่งที่แพ้คดีเกี่ยวกับการทำสัญญาหรือความร่วมมือกับรัฐ เพื่อให้รัฐเข้ามาช่วยดูแลและทะนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงจรรยาบรรณของวิชาชีพทนายความที่มิได้มุ่งหวังแต่ผลแพ้ชนะคดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างรอบด้านอีกด้วย

 


 

[1] (Autism spectrum disorder) เป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งมีพฤติกรรมและความสนใจที่เป็นแบบแคบจำกัดหรือเป็นแบบแผนซ้ำๆ อ้างอิงจาก ศศิธร จันทรทิณ, “มารู้จัก…ภาวะออทิสติก” อ้างถึงใน วิวิศนา อับดุลราฮิม, “อูยองอู : ซีรีส์ที่จะเปลี่ยนภาพจำความพิการ เมื่อวาฬทุกตัวแตกต่างกัน” (sarakadeelite) <www.sarakadeelite.com/lite/extraordinary-attorney-woo/> สืบค้นเมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕

[2] Extraordinary Attorney Woo EP 13-14 สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าไม่มีอยู่จริง. [ออนไลน์]. จากดูซีรีส์ ให้ซีเรียส เว็บไซต์ : https://theseriousseries.com/extraordinary-attorney-woo-ep13-14/ (สืบค้นข้อมูล: ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕)

[3] แนวคำวินิจฉัยที่ศาลพิจารณาโดยมีการชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ส่วนร่วม คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๔๔๔/๒๕๕๕

[4] อนันต์ คงเครือพันธ์, “ประโยชน์สาธารณะในแง่มุมคดีปกครอง,” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับ ๓ (กันยายน ๒๕๖๑) : ๗๒๑

[5]พลวัต (อ่านว่า พน-ละ -วัด) มีความหมายว่า มีกำลัง ใช้หมายถึง เกี่ยวข้องกับแรง เกี่ยวข้องกับผลของแรง

              คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า dynamic ซึ่งหมายถึง มีพลังเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตรงข้ามกับ static ซึ่งหมายความว่า หยุดนิ่งกับที่

[6] อนันต์ คงเครือพันธ์, “ประโยชน์สาธารณะในแง่มุมคดีปกครอง,” ๗๒๖.

[7] พลตำรวจเอก วัชรวาท วงษ์สุวรรณ, “การเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยตามหลักประชาธิปไตย”.กรุงเทพมหานคร:วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ

[8] อนันต์ คงเครือพันธ์, “ประโยชน์สาธารณะในแง่มุมคดีปกครอง,” ๗๒๔.