ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

หน่วยงานของรัฐรับผิดต่อผู้เสียหาย

มาตรา 5 “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง”

เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปติดต่องานในราชการ แล้วไปชนรถของเอกชนจนเสียหาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในผลแห่งละเมิดนั้น ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นั้นไม่ได้

ข้อสังเกต
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิด

เจ้าหน้าที่รับผิดต่อผู้เสียหาย

มาตรา 6 “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้”

ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดนอกการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ผู้ถูกทำละเมิดต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นการส่วนตัว จะฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ได้ และคดีละเมิดดังกล่าวจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

การไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหน้าที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

มาตรา 8 “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น”

ข้อสังเกต
หน่วยงานของรัฐที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ต้องเสียหายไป จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ต่อเมื่อ การกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น