คนเชียงใหม่ฟ้องนายกฯ ต่อศาลปกครอง เพิกเฉยแก้ปัญหา PM 2.5

กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา

 

“เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยของคนได้นับล้านคน”

นี่คือเสียงของตัวแทนประชาชนคนเชียงใหม่ ที่ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครองกรณีไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยอาศัยอำนาจมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสั่งแวดล้อมซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้ แต่ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้อย่างเต็มที่ เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

มีรายงานว่าประชาชนในเมืองต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 ระดับเฉลี่ยต่อปีเกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิดที่มักพบในคนไม่สูบบุรี่ เพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4-5 ปี

 

สำหรับการยื่นคำร้องในครั้งนี้ ทางเครือข่ายมี คำร้องสำคัญทางคดี 3 ประการได้แก่

1. ฟ้องนายกรัฐมนตรี ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหา มลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ

3. ฟ้องคณะกรรมกากำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 OneReport หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษายกฟ้อง ! ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2566 หมายเลขแดงที่ ส. 1/2566 ที่มีผู้ยื่นฟ้องขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้สภาพบรรยากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 ไม่เกินมาตรฐานตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว

โดยศาลปกครองให้เหตุผลเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานการณ์มีปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐาน ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนม.ค.- ก.พ. 2566 ตามฟ้อง ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ออกคำสั่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้

จากรณีที่เกิดขึ้น ทำให้นึกย้อนกลับไปคดีที่น่าสนใจคดีหนึ่งที่ขึ้นต่อศาลปกครองและประชาชนชนะคดี

คือคดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2464 และคดีหมายเลขแดงที่ ส. 1/2564 ชาวหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องชนะ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่เอาจริงแก้มลพิษฝุ่นควัน

 

ผู้ฟ้องชื่อว่า นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล เป็นนักกฎหมาย มีบ้านอยู่เขตต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ โดยยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ เมื่อ 15 มีนาคม 2564 ศาลพิจารณาโดยเร็วและมีคำสั่งคดีออกมาในวันที่ 8 เมษายน 2564

คดีนี้มีความรวดเร็ว ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 สัปดาห์ เพราะอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ผู้ถูกฟ้อง คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ (มอบพล.อ.ประวิตร รองนายกฯเป็นประธานแทน) องค์กรนี้ มีอำนาจตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่สามารถประกาศเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไข เมื่อพบว่ามีมลพิษเป็นเหตุอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพประชาชน แต่กลับไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่

ผู้ฟ้อง ศาลมีคำสั่ง 2 ประเด็น คือ ขอให้มีวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน แต่ข้อนี้ตกไป ศาลฯ ไม่รับคำขอให้มีการดำเนินวิธีชั่วคราว (เยียวยา)ตามร้อง อีกประเด็นหนึ่งคือ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้ 4 จังหวัดดังกล่าว เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และกำจัดมลพิษ ภายใน 7 วันนับแต่ศาลมีพิพากษา ข้อนี้ ศาลมีคำสั่งตามที่ผู้ร้องขอมา แต่กำหนดเวลา 30 วัน (ไม่ใช่ 7 วันตามขอ)

ศาลปกครองเชียงใหม่ มองว่ากลไกตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตนั้นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมและลดมลพิษ กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลการจัดทำแผนดังกล่าว เป็นแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด และมีงบประมาณอุดหนุนตรงจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากงบประมาณปกติ ก็จะเกิดกระบวนการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ เป็นระบบ ทั้งนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นกลไกดำเนินการแก้ปัญหาให้บรรลุผลได้

สุดท้ายศาลมีคำสั่งให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษภายใน 30 วันนับจากตัดสิน คือ ภายในต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้มีเวลาในการจัดทำแผนปฏิบัติการ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบแผน ของบประมาณ และดำเนินการตามแผนได้ทันห้วงเวลาเกิดปัญหามลพิษฝุ่นควันในปี 2565

 

จากกรณีทั้งสองเมื่อเทียบเคียงกันมีประเด็นแห่งคดีเดียวกัน จึงน่าสนใจว่า ครั้งนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม