คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

สัญญาทางปกครอง

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 คือ “สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ”

ความแตกต่างระหว่างสัญญาทางแพ่งและสัญญาทางปกครอง
1. สัญญาทางแพ่ง : เพื่อประโยชน์ส่วนตน
2. สัญญาทางปกครอง : เพื่อประโยชน์สาธารณะ

– สัญญาจ้างงานระหว่างหน่วยงานราชการกับเจ้าหน้าที่

คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ 183/2560 คดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองชำระค่าชดเชยและค่าขาดรายได้พร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีความผิดและให้ผู้ฟ้องคดีลาออกโดยไม่สมัครใจ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการประชาสัมพันธ์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตกลงทำสัญญาว่าจ้างผู้ฟ้องคดีให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวในประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาข่าวของผู้สื่อข่าวที่ผลิตเสร็จ ตรวจบทข่าวที่ส่งมาจากภูมิภาค และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการประชาสัมพันธ์ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

– สัญญาจ้างงานระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเจ้าหน้าที่

คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วางหลักในการวินิจฉัยว่า เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐวิสาหกิจกับพนักงานมีขึ้นเพื่อดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจการค้า จึงอยู่ในฐานะของนายจ้างกับลูกจ้างและอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 ซึ่งเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ 13/2551 (สัญญาจ้างพนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) สัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเป็น “สัญญาจ้างแรงงาน” ทุกกรณี ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือไม่ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการไปในเชิงธุรกิจการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐวิสาหกิจกับพนักงานย่อมมีขึ้นเพื่อดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจการค้า รัฐวิสาหกิจกับพนักงานจึงอยู่ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง และอยู่ภายใต้บังคับของสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่งทั่วไป หรือสัญญาที่รัฐวิสาหกิจรับพนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าทำงาน ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575

– สัญญาจ้างงานระหว่างหน่วยงานอื่นของรัฐกับเจ้าหน้าที่

คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างงานระหว่างหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น องค์การมหาชน กับเจ้าหน้าที่นั้นตามแนวคำวินิจฉัยเดิมให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลแรงงาน) โดยเหตุผลที่ว่าคู่สัญญามีความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายแพ่ง สัญญาจ้างทำงานดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ในระยะหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบันได้วินิจฉัยว่าสัญญาจ้างงานดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผลไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน

คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ 60/2561 คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างระหว่างองค์การมหาชนกับเจ้าหน้าที่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยวินิจฉัยว่า สัญญาจ้าง “ผู้อำนวยการ” สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน)จำเลย ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของสำนักงาน เป็นสัญญาเพื่อจัดหาบุคคลมาปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารสูงสุดเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยบรรลุผล ซึ่งมีลักษณะเป็นการมุ่งผลสำเร็จของงานมากกว่าการจ้างแรงงานและเป็นสัญญาที่ให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ