คดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือความรับผิดอย่างอื่น

คดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือความรับผิดอย่างอื่น

ข้อพิจารณา

1. เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
2. ความรับผิดทางละเมิดต้องมีเหตุมาจากการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) หรือเป็นความรับผิดทางละเมิดที่มีเหตุมาจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
3. เมื่อการละเมิดนั้นเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ การออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรก็จะนำพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาพิจารณา
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับกับ
– ส่วนราชการในราชการส่วนกลาง / ราชการส่วนภูมิภาค
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ / พระราชกฤษฎีกา
– หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้
– ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัตินี้

ตัวอย่างคำวินิจฉัย

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 481/2547 องค์การบริหารส่วนตำบลใช้อำนาจตามมาตรา 68 (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ประกอบกับมาตรา 58 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพื่อคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีอาศัยอยู่ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการตามคำสั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลจึงเข้าดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน ซึ่งเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 614/2547 ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กรมชลประทานขุดลอกคลองน้ำทิ้งและถมถนนเลียบคันคลองตลอดเส้นทางน้ำ ทำให้น้ำในนาของผู้ฟ้องคดีระบายลงสู่คลองน้ำทิ้งไม่ได้จนเป็นเหตุให้ได้รับผลผลิตน้อยกว่าที่ควร ขอให้กรมชลประทานแก้ไขปัญหาการระบายน้ำในบริเวณที่พิพาทและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เมื่อกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการขุดคลอง ซ่อม หรือดัดแปลงแก้ไขทางน้ำชลประทานหรือจัดให้มีสิ่งก่อสร้างขึ้นในทางน้ำชลประทานตามมาตรา 15 (2) แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย