คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ฝ่ายปกครองละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ฝ่ายปกครองละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

หน้าที่ทางปกครอง หมายถึง หน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้

1. ใช้อำนาจทางปกครองออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่น
2. ใช้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดในการดำเนินบริการสาธารณะ
3. ใช้อำนาจหน้าที่ทางปกครองดูแลรักษาทรัพย์สินที่จะต้องใช้ในการจัดการบริการสาธารณะให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้โดยไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการ

เช่น กรมทะเบียนการค้ามีหน้าที่รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท หรือกรมที่ดินมีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ หากกรมทะเบียนการค้าหรือกรมที่ดินปฏิเสธไม่รับคำขอหรือรับคำขอแล้วไม่พิจารณาคำขอว่าสมควรจดทะเบียนให้ตามคำขอหรือไม่ ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ถ้ารับคำขอมาแล้วแต่ดำเนินการล่าช้า เช่น กรณีการจดทะเบียนเรื่องใดกฎหมายหรือระเบียบภายในระบุว่าให้พิจารณารับจดทะเบียนหรือไม่ภายใน 5 วัน หากพ้นกำหนดก็ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หากไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ ก็ต้องพิจารณาจากระยะเวลาตามปกติวิสัยว่าเรื่องนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าใด หากพ้นระยะเวลาไปแล้วก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

ข้อพิจารณา

การฟ้องคดีปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ผู้ฟ้องคดีจะต้องมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาได้เพียงแค่สั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาที่ศาลปกครองกำหนดเท่านั้น และศาลปกครองไม่มีอำนาจเข้าไปกระทำการแทนเอง

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 224/2552 แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่สามารถหาตัวผู้รับจ้างรื้อถอนอาคารพิพาทได้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถพิจารณาปรับราคากลางค่ารื้อถอนใหม่หรือเข้ารื้อถอนได้เองตามความเหมาะสมตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และมาตรา 58 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีจึงยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เพราะอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมมีวัตถุประสงค์ในการที่จะให้มีการบังคับใช้กฎหมายจนบรรลุผล เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการให้บรรลุผล กรณีถือได้ว่ายังคงละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ และเมื่อเหตุเดือดร้อนรําคาญต่าง ๆ เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการให้บรรลุผลตามกฎหมาย ความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ระงับสิ้นไปถูกฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนรําคาญที่เกิดขึ้นให้ระงับสิ้นไปโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด