การฟ้องคดีปกครอง

การฟ้องคดีปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 224/2552 แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่สามารถหาตัวผู้รับจ้างรื้อถอนอาคารพิพาทได้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถพิจารณาปรับราคากลางค่ารื้อถอนใหม่หรือเข้ารื้อถอนได้เองตามความเหมาะสมตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และมาตรา 58 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีจึงยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เพราะอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมมีวัตถุประสงค์ในการที่จะให้มีการบังคับใช้กฎหมายจนบรรลุผล เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการให้บรรลุผล กรณีถือได้ว่ายังคงละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ และเมื่อเหตุเดือดร้อนรําคาญต่าง ๆ เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการให้บรรลุผลตามกฎหมาย ความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ระงับสิ้นไปถูกฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนรําคาญที่เกิดขึ้นให้ระงับสิ้นไปโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 452/2545 พ.ร.บ.โรงงาน กำหนดมาตรการแก้ไขไว้หลายอย่างเป็นลำดับขั้นตอน กล่าวคือ เมื่อมีการประกอบกิจการโรงงานแล้วเป็นอันตรายต่อประชาชนเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งแก้ไขปรับปรุงได้ ซึ่งเป็นมาตรการเบื้องต้นและหากเมื่อสั่งไปแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ก็มีอำนาจต่อไปในการที่จะสั่งให้หยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และให้แก้ไขปรับปรุงเสียก่อน และขั้นสุดท้ายคืออำนาจในการสั่งให้ปิดโรงงานหาก 2 ขึ้นตอนแรกไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าอุตสาหกรรมจังหวัดใช้มาตรการอื่นในระดับที่สูงกว่าจึงย่อมเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 748/2555 แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ใช้อำนาจและกระทำการเพื่อป้องกันและระงับมิให้ผู้ประกอบกิจการผลิตกะปิก่อเหตุรําคาญ โดยการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้คำแนะนําการสั่งระงับกิจการและให้ปรับปรุงสถานที่ การให้ย้ายสถานที่ที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น การให้ลดปริมาณ การใช้ผ้าใบกั้นลม รวมถึงการกั้นรั้วและการให้เร่งแก้ไขปรับปรุงตามที่พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดไว้แต่เมื่อการประกอบกิจการผลิตกะปิยังคงก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ดำเนินการสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้ต้องปฏิบัติ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือระงับเหตุรําคาญให้หมดสิ้นไป จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 767/2558 ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่บำรุงรักษาถนนพิพาทตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ประกอบข้อ (6) ของกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 เมื่อถนนพิพาทมีสภาพผิวถนนชํารุดเสียหายมาก ผู้ถูกฟ้องคดีจึงควรที่จะติดตั้งสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือน หรือติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะได้ทราบล่วงหน้าถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาพผิวถนนหรือได้ใช้ความระมัดระวังในขณะสัญจรตามเส้นทางดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการหรือมีมาตรการตามสมควรเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ถนนในการสัญจรไปมา และไม่กำกับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงท้องถิ่น ทั้งไม่มีการบำรุงรักษาทางดังกล่าว ย่อมเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ เป็นเหตุให้รถยนต์ตกหลุมพลิกคว่ำทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ข้อสังเกต
1. เมื่อพิจารณาจากแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติเพื่อบริการสาธารณะ และหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

หากกฎหมายได้กำหนดมาตรการหรือวิธีการในการดำเนินการไว้หลายประการ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกใช้มาตรการหรือวิธีการตามที่กฎหมายกําหนดให้ครบถ้วนและเหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละกรณีไปถ้าได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่การดำเนินการนั้นไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย หรือมาตรการหรือวิธีการที่เลือกใช้นั้นไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กรณีย่อมถือได้ว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน

2. ผู้ฟ้องคดีจะต้องมีคำขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาได้เพียงแค่สั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาที่ศาลปกครองกำหนดเท่านั้น และศาลปกครองไม่มีอำนาจเข้าไปกระทำการแทนเอง