การดำเนินคดีเกี่ยวกับบริหารงานบุคคลภาครัฐ ความสำคัญที่มักถูกมองข้าม

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการทำให้องค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนขับเคลื่อน ไปได้อย่างมีประสิทฺธิภาพ คือ การบริหารรงานบุคคล ซึ่งเริ่มต้นจากการเข้าเป็นบุคลากร การให้ความดีความชอบ การรักษาวินัย การลงโทษทางวินัย และการสิ้นสุดสถานภาพ หากเป็นองค์กรเอกชนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เข้ามาเป็นบุคลากรกับองค์กรนั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายแรงงานบนพื้นฐานความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างเป็นสำคัญ แต่สำหรับผู้ที่เข้ามาเป็นบุคลากรภาครัฐนั้น ข้อความคิดพื้นฐานแตกต่างกัน ซึ่งเน้นวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะเป็นสำคัญ และความสัมพันธ์ของบุคลากรภาครัฐอาจจะมีได้ในหลายลักษณะ เช่น ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของกฎหมาย ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของสัญญา อันจะส่งผลต่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลเหล่านั้น นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐยังมีหลายประเภทและมีกฎหมายที่ใช้บังคับหลายฉบับ

คดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล จึงหมายถึง คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างบุคคลกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของบุคคลกับหน่วยงานของรัฐ
โดยมีข้อพิจารณาที่สำคัญที่จะต้องรู้และเข้าใจ ดังต่อไปนี้

1. การเข้าสู่ตำแหน่ง
การเข้าสู่ตำแหน่งเป็นประตูบานแรกของการเข้ามาเป็นบุคลากรภาครัฐ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมักจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการและดุลพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือก เช่น มีข้อโต้แย้งว่าประกาศรับสมัครบุคคลของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐกำหนดให้รับเฉพาะบุคคลที่จบปริญญาตรีเกียรตินิยมเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติและขัดต่อหลักความเสมอภาค หรือมีข้อโต้แย้งว่าประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการคัดเลือกไม่มีรายชื่อของตนทั้ง ๆ ที่ทำข้อสอบได้
2. การเลื่อนระดับ
เมื่อบุคคลได้เข้าสู่การเป็นบุคลากรภาครัฐและได้ทำงานมาระยะหนึ่ง ย่อมได้รับการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นกรณีที่เห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้
3. การย้าย
การย้ายเป็นการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานภาครัฐประการหนึ่งที่มีความสำคัญและเกิดขึ้นเป็นปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเป็นไปอย่าง
มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามพันธกิจ ซึ่งหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ในฐานะที่มีอำนาจบังคับบัญชาบุคลากรภาครัฐที่อยู่ในสังกัด ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นกรณีที่เห็นว่าการย้ายนั้นไม่เป็นธรรม เป็นการกลั่นแกล้งให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรือเป็นการใช้ดุลพินิจในการย้ายโดยมิชอบ
4. การดำเนินการทางวินัย
วินัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมบุคลากรภาครัฐให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและรักษาสมรรถนะขององค์กร เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล วินัยจึงมีความสำคัญต่อการบริหารงานภาครัฐในภาพรวมและต่อตัวบุคลากรภาครัฐนั้นด้วย โดยในการดำเนินการทางวินัยจะต้องสอบสวนเพื่อให้ได้ความยุติธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงและนำสืบพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมและความมั่นคงแก่ภาครัฐ ซึ่งในการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ จะต้องยึดหลักนิติธรรม หลักมโนธรรมและหลักความเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ คดีพิพาทเกี่ยวกับวินัยจึงเป็นคดีที่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมากเพื่อขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยและคืนสิทธิต่าง ๆ ให้กับผู้ถูกลงโทษทาวินัย
5. การพ้นจากตำแหน่ง
การพ้นจากตำแหน่งเป็นการสิ้นสุดสถานการณ์เป็นบุคลากรภาครัฐ อาจเกิดขึ้นได้ในสองลักษณะ คือ การเกิดขึ้นโดยสมัครใจ เป็นการคิด ตัดสินใจ และตกลงใจด้วยตนเองที่จะยุติความสัมพันธ์กับหน่วยงานของรัฐ เช่น การลาออก กับอีกลักษณะหนึ่ง คือ การเกิดขึ้นโดยไม่สมัครใจ เป็นการบังคับให้พ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย เช่น การถูกลงโทษทางวินัยปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ คดีพิพาทที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นการโต้แย้งว่า การให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่สมัครใจอันเกิดจากการถูกลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในการดำเนินคดีปกครองเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐ มีข้อคำนึงดังต่อไปนี้

1. วัตถุแห่งคดี
จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนในเบื้องต้นว่า อะไรเป็นมูลเหตุที่ทำให้ได้รับผลกระทบอันจะเป็นวัตถุแห่งคดี โดยจะต้องตรวจสอบว่าเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้อำนาจบังคับบัญชาซึ่งเป็นอำนาจโดยทั่วไป หรือเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลที่สามารถโต้แย้งได้ หรือเป็นเพียงการบริหารงานทั่วไปเท่านั้น วัตถุแห่งคดีเปรียบเสมือนการเปิดประตูเพื่อดำเนินคดีปกครองต่อไป
2. กระบวนการขั้นตอนเยียวยาตามกฎหมาย
ในการบริหารงานบุคคลภาครัฐนั้น กฎหมายจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเยียวยาไว้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน เช่น การร้องทุกข์ หรือการอุทธรณ์ เพื่อให้กระบวนการทบทวนในชันอุทธรณ์ได้เริ่มขึ้น และจะสัมพันธ์กับสิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลอีกด้วย
3. ความเป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย
การบริหารงานบุคคลภาครัฐนั้นไม่ใช่ทุกรณีจะเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายจากการกระทำเหล่านั้นในทุกกรณี การจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายด้วย
4. ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี
หลายคนอาจจะสงสัยว่า คดีบริหารงานบุคคลของภาครัฐนั้นจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองในทุกรณีหรือไม่ หรืออยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เดิมก่อนมีศาลปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐเป็นข้อพิพาททีมีลักษณะเป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่จะมีข้อแตกกต่างในประเภทคดีที่ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองว่าจะเป็นคดีประเภทข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออก คำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นคดีประเภทสัญญาทางปกครอง อย่างไรก็ตาม หากว่าหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นรัฐวิสากิจเขตอำนาจศาลก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่น ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการให้ออกจากตำแหน่งของพนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
5. เงื่อนไขการฟ้องคดี
การดำเนินคดีปกครองในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐ นอกจากจะต้องพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นเบื้องแรกแล้ว จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการฟ้องคดีด้วย
ว่าเป็นไปโดยครบถ้วนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี ระยะเวลาการฟ้องคดี คำขอที่ศาลสามารถออกคำบังคับได้ เช่น ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย
6. ข้อยกเว้นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
คดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐบางประเภทไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เป็นข้อพึงระวังอย่าสับสน เช่น คดีพิพาทเกี่ยวกับวินัยทหาร
การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการหรือคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

การดำเนินคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐจึงมีข้อพิจารณาที่ต้องคำนึงถึงที่แตกต่างไปจากการดำเนินคดีของภาคเอกชน เนื่องจากการบริหารงานบุคคลภารรัฐต้อง ชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของบุคคลประกอบกัน และจะต้องคำนึงถึงระบบคุณธรรมที่ประกอบไปด้วย

(1) หลักความเสมอภาค เป็นสิทธิที่ให้แก่บุคคลโดยเท่าเทียมกัน กล่าวคือ ทุกคนที่มีคุณสมบัติและมีความรู้ความสามารถ ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ารับการสรรหาเข้าทำงาน
และเมื่อปฏิบัติงาน ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันเพื่อได้รับค่าตอบแทนหรือผลตอบแทนที่เท่ากัน
(2) หลักความสามารถ ความรู้ความสามารถเป็นสาระสำคัญในการคัดเลือกบุคคลเข้าปฏิบัติงานต้องให้ผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งมากที่สุด
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐจึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ เฉพาะด้าน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของหน่วยงานภาครัฐ ขณะเดียวกัน ยังทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินการตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น