การดำเนินคดีปกครอง เรื่องสามัญที่ไม่ธรรมดา

ในทุกการใช้ชีวิตของผู้คนแต่ละวันเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ตลอด เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การจดทะเบียนต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้อำนาจฝ่ายเดียวของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดกฎหมาย การออกคำสั่งลงโทษทางวินัย แต่คนส่วนมากมักจะไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับการดำเนินคดีปกครองจนกว่าจะได้รับผลกระทบกับตัวเองและเกิดข้อพิพาทอันเกิดจากการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ๆ ซึ่งเรียกข้อพิพาทดังกล่าวว่าเป็น “คดีปกครอง”

คดีปกครอง จึงหมายถึง คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครอง
หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ข้อพิพาทเหล่านี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ “ศาลปกครอง” ซึ่งมีหลักการพื้นฐานและระบบวิธีพิจารณาเป็นการเฉพาะที่แตกต่างไปจากศาลยุติธรรม การดำเนินคดีปกครอง
จึงมีข้อควรพิจารณาหรือคำนึงถึงซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการดำเนินคดีปกครอง ดังต่อไปนี้

  1. ศาลที่มีเขตอำนาจในการรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง และกำหนดให้มีศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น ข้อพิจารณาประการแรกของการดำเนินคดีปกครองที่สำคัญ คือ เขตอำนาจศาล โดยจะต้องเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่ง เป็นคดีในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของงรัฐออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตค้า
ของเก่าตามที่ยื่นขอ หรือหน่วยงานของรัฐออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ

(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลย
ต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
เช่น
เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลรักษาทางน้ำหรือทางบกที่เป็นสาธารณะประโยชน์
และที่อย่างอื่นที่ประชาชนใช้งานร่วมกันซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ หรือเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินล่าช้าเกินสมควร

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงาน
ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง
หรือจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
เช่น หน่วยงานของรัฐไม่ดูแลรักษาตรวจตราปิดฝาท่อระบายน้ำให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและไม่จัดให้มีเครื่องหมายแจ้งการก่อสร้างเพื่อ
ความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเป็นเหตุให้ผู้ใช้ถนนเกิดอุบัติเหตุ หรือข้อพิพาทอันเกิดจากการเวนคืนที่ดิน

(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น การผิดสัญญาที่หน่วยงานของรัฐให้ทุนไปศึกษาต่อแล้วผู้ได้รับทุนไม่ยอมกลับมาปฏิบัติหน้าที่ชดใช้ทุนหรือชดใช้ทุนไม่ครบตามสัญญา
หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

เมื่อข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว เท่ากับว่าผ่านขั้นแรกของการดำเนินคดีปกครองแล้ว แต่จะต้องพิจารณาต่อไปอีกด้วยว่าเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองหรือไม่ ถ้าใช่ก็สามารถดำเนินคดีปกครองต่อไปได้

  1. เงื่อนไขการฟ้องคดี

เมื่อข้อพิพาทนั้นเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว
จะต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่
ซึ่งมีเงื่อนไขการฟ้องคดีที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

(2.1) การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี

การฟ้องและการดำเนินคดีปกครองนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะมาฟ้องศาลปกครองก็ได้
แต่จะต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองด้วย โดยกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและ
วิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนดว่าผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน
และวิธีการที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงจะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

(2.2) ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี

คดีปกครองแต่ละประเภทจะมีระเวลาการฟ้องคดีที่แตกต่างกัน การนำคดีมาฟ้อง
ต่อศาลปกครองจะต้องอยู่ภายในระยะเวลาการฟ้องคดีด้วย เช่น การฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองจะต้องฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่รู้หรือควรรู้แห่งการฟ้องคดี การฟ้องคดีเกี่ยวกับละเมิดจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีและการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่รู้หรือ
ควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี การฟ้องคดีที่พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีย่อมเป็นคำฟ้องที่ศาลปกครองไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ เว้นแต่เป็นกรณีการฟ้องเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล
จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ หรือเป็นกรณีที่ศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้

(2.3) คำฟ้องจะต้องมีคำขอที่ศาลปกครองออกคำบังคับได้และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีปกครอง

คำขอที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้นจะต้องสัมพันธ์กับคำฟ้อง กล่าวคือ
ต้องเป็นคำขอที่ศาลปกครองสามารถออกคำบังคับได้ เช่น ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย
คำขอที่ศาลปกครองออกคำบังคับได้ก็คือการขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่จะขอให้ศาลปกครองลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยส่วนนี้จะเป็นคำขอที่ศาลปกครองไม่อาจออกคำบังคับได้ หากเป็นคดีที่มีค่าธรรมเนียมศาล เช่น คดีฟ้องขอให้รับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคดีฟ้องขอให้รับผิดตามสัญญาทางปกครอง คดีเหล่านี้กฎหมายจัดตั้ง
ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลด้วย

นอกจากนี้ คำฟ้องจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีปกครองด้วย เช่น คำฟ้องจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการฟ้องซ้อน การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ หรือ การฟ้องซ้ำ

เมื่อข้อพิพาทที่เกิดขึ้นครบองค์ประกอบในเรื่องเขตอำนาจศาลและเงื่อนไขการฟ้องคดีแล้ว การดำเนินคดีปกครองนั้นจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. จัดเตรียมคำฟ้อง

คำฟ้องเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลปกครองไม่ว่าจะเป็นการเสนอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด คำฟ้องจะต้องใช้ถ้อยคำสุภาพ มีชื่อที่อยู่ผู้ฟ้องคดี ชื่อหน่วยงาน
ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
คำขอของผู้ฟ้องคดี ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย โดยในการฟ้องคดีนั้นผู้ฟ้องคดีอาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ฟ้องคดีแทนตนก็ได้
โดยจะต้องแนบใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมาด้วย นอกจากนี้ หากมีเอกสารแนบท้ายฟ้องก็ให้แนบเอกสารดังกล่าวพร้อมรับร้องสำเนาถูกต้องในเอกสารแนบท้ายฟ้องด้วย

  1. วิธีการยื่นคำฟ้อง

การยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองนั้น อาจยื่นได้หลายวิธีด้วยกัน คือ การยื่นคำฟ้อง
ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลปกครอง การยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน การยื่นคำฟ้องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิทัลอื่นใด หรือโทรสาร

  1. การยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง

ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า คดีที่จะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด หากเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองชั้นต้น ผู้ฟ้องอาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาหรือที่มูลคดีเกิดขึ้นในศาลปกครองชั้นต้นนั้น มีข้อสังเกตว่า ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้มีทุกจังหวัด ศาลปกครองในภูมิภาคอาจมีเขตอำนาจครอบคลุมหลายจังหวัด ผู้ฟ้องคดีจะต้องตรวจสอบเขตอำนาจของศาลปกครองภูมิภาคที่จะยื่นฟ้องให้ดีว่าอยู่ในเขตอำนาจหรือไม่ สำหรับการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น
ให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีเพียงศาลเดียว

สำหรับการยื่นคำฟ้องคดีปกครองที่มูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าผู้ฟ้องคดี
เป็นผู้มีสัญชาติไทย และไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

คดีปกครองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายไทยมากว่ายี่สิบปีแล้วนับแต่มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมา การดำเนินคดีปกครองมีข้อความคิดพื้นฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการ และเงื่อนไข
ที่ไม่เหมือนกับการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญา หากว่าผู้ฟ้องคดีมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ
หลักกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ย่อมจะทำให้การดำเนินคดีปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี