ความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาทางปกครอง

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 “เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
(1) เป็นคู่กรณีเอง
(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(3) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(6) กรณีอื่นตามที่กาหนดในกฎกระทรวง”

ข้อพิจารณา
– กรณีตามมาตรา 13 (1) ที่เจ้าหน้าที่เป็นคู่กรณีเอง เป็นกรณีที่ถือได้ว่าเป็นการร้ายแรงที่สุด เช่น การยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารในขณะที่ตนเองเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้ก่อสร้างได้
– กรณีตามมาตรา 13 (2) ที่เจ้าหน้าที่เป็นคู่หมั้น หรือคู่สมรสของคู่กรณี เป็นกรณีที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความลำเอียงได้โดยง่าย
– ความเป็นญาติตามมาตรา 13 (3) นั้นถูกจำกัดในขอบเขตของการเป็นญาติสนิท และกฎหมายได้บัญญัติประเภทของบุคคลไว้โดยตรง ได้แก่

1. บุพการี หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตสายตรงขึ้นไปไม่ว่าจะกี่ชั้น นับตั้งแต่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ซึ่งการนับตามหลักนี้จะนับทั้งหมดไม่ว่าจะกำเนิดโดยการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม
2. ผู้สืบสันดาน หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตสายตรงลงมาไม่ว่าจะกี่ชั้น นับตั้งแต่ลูก หลาน เหลน ลื่อ ซึ่งการนับตามหลักนี้จะนับทั้งหมดไม่ว่าจะกำเนิดโดยการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่นเดียวกับการนับบุพการี
3. ญาติด้านพี่น้องนับได้ภายในสามชั้น ซึ่งพี่น้อง หมายถึงผู้เกิดในครอบครัวจากบิดามารดาเดียวกัน ไม่ว่าบิดามารดาจะสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
4. ญาติด้านลูกพี่ลูกน้องนับได้ภายในสามชั้น ซึ่งลูกพี่ลูกน้อง หมายถึง ลูกของผู้เป็นพี่หรือน้องของบิดามารดาหรือมารดา ได้แก่ ลูกของลุง ป้า น้า อา ซึ่งนับกันตามข้อเท็จจริง
5. ญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้ภายในสองชั้น

– กรณีตามมาตรา 13 (4) ผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึง ผู้ปกครองที่ดูแลผู้เยาว์ หรือผู้อนุบาลที่ดูแลคนไร้ความสามารถ หรือผู้พิทักษ์ที่ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ ส่วนผู้แทน หมายถึง ผู้ซึ่งมีสิทธิหน้าที่โดยกฎหมายที่จะทำการแทนผู้อื่น เช่น ผู้แทนนิติบุคคล และตัวแทน หมายถึง ผู้ที่เข้ากระทำการใดแทนผู้อื่นซึ่งสิทธิหน้าที่ที่เกิดขึ้นโดยความสัมพันธ์ทางสัญญาตัวแทน
– ในกรณีตามมาตรา 13 (5) การเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ เป็นกรณีที่อาจมีประโยชน์ที่จะเรียกร้องหรือจะต้องให้แก่กันนั่นเอง โดยยังหมายความรวมถึงกรณีการเป็นลูกจ้างด้วย แม้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งก็ตาม
– กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 13 (6) เช่น เคยได้แสดงความคิดเห็นอย่างจริงจังในเรื่องที่จะพิจารณานอกหน้าที่การงานของตนมาก่อนแล้ว การที่มาเป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องเดียวกันอีกย่อมมีความโน้มเอียงที่จะวินิจฉัยเช่นเดิมอีก หรือเป็นผู้ได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากการมีคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น เป็นต้น

มาตรา 16 “ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) ถ้าผู้นั้นเห็นเองว่าตนมีกรณีดังกล่าว ให้ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อนและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี
(2) ถ้ามีคู่กรณีคัดค้านว่าผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว หากผู้นั้นเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่คัดค้านนั้นผู้นั้นจะทำการพิจารณาเรื่องต่อไปก็ได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี
(3) ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งผู้นั้นเป็นกรรมการอยู่มีคำสั่งหรือมีมติโดยไม่ชักช้า แล้วแต่กรณีว่าผู้นั้นมีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นหรือไม่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสอง และมาตรา 15 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.362/2552 การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเหตุว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นฝ่ายบริหารที่มีส่วนได้เสียกับการตั้งข้อกล่าวหาในการพิจารณาลงโทษผู้ฟ้องคดี จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 16 เมื่อการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการอ้างเหตุที่เกิดจากความหวาดระแวงและการคาดเดาของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการฯมีความไม่เป็นกลางอย่างไร และต้องห้ามไม่ให้พิจารณาทางปกครองอย่างไร กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่ามีสภาพร้ายแรง อันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองดังกล่าวไม่เป็นกลาง