การแจ้งสิทธิอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 40 “คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง”

ตัวอย่างเช่น ใช้ข้อความว่า “ถ้าหากท่านประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อ________ภายใน________วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่งนี้”

ข้อพิจารณา

– คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องแจ้งให้ผู้ออกคำสั่งทราบถึงรายละเอียดและระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์
– คำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ ยังคงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่มีผลให้ระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจะเริ่มนับต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไปยังผู้รับคำสั่งทางปกครองในภายหลัง
– ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งไม่ได้แจ้งรายละเอียดและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ในคำสั่ง และไม่มีการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งใหม่ภายหลัง และระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนั้นสั้นกว่า 1 ปี ก็ให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 1 ปี