การแก้ไขเยียวยาความบกพร่องของคำสั่งทางปกครอง
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 41 ได้กําหนดให้มีการแก้ไขเยียวยาความบกพร่องของคำสั่งทางปกครอง ที่ออกโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์ไว้ 4 กรณี ดังนี้
1. การออกคำสั่งทางปกครองโดยยังไม่มีผู้ยื่นคําขอในกรณีที่เจ้าหน้าที่ จะดำเนินการเองไม่ได้นอกจากจะมีผู้ยื่นคําขอ ถ้าต่อมาในภายหลังได้มีการยื่นคําขอเช่นนั้นแล้วตามมาตรา 41 (1)
ข้อบกพร่องนี้สามารถแก้ไขได้เมื่อมีผู้มายื่นคำขอในภายหลังให้ถูกต้อง เช่น หนังสือรับรองที่ออกให้แก่บริษัท อ.ซึ่งเกิดจากคําขอที่มิได้ประทับตราบริษัทที่ถูกต้องนั้น กล่าวคือ ได้มีการยื่นคําขอแล้วเพียงแต่คําขอนั้นมิได้ประทับตราบริษัทที่ถูกต้อง เช่นนี้การที่ประทับตราไม่ถูกต้องมีผลทำให้เป็นการไม่มีการยื่นคําขอ กรณีดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดยการให้มีการยื่นคําขออีกครั้งภายหลังทั้งนี้ ตามมาตรา 41 (1)
2. คำสั่งทางปกครองที่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ถ้าได้มีการจัดให้มีเหตุผลดังกล่าวในภายหลังตามมาตรา 41 (2)
คำสั่งทางปกครองจะต้องระบุเหตุผลที่เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญข้อกฎหมายที่อ้างอิง รวมทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่บางกรณีก็อาจไม่ต้องระบุเหตุผลหากผลของคำสั่งตรงตามคําขอของคู่กรณี หรือเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องระบุอีก หรือกรณีที่ต้องรักษาเป็นความลับ หรือเป็นการออกคำสั่งด้วยวาจาและเป็นกรณีเร่งด่วนที่โดยสภาพไม่อาจระบุเหตุผลได้ ซึ่งในกรณีที่ต้องระบุเหตุผลหากเจ้าหน้าที่ไม่จัดให้มีเหตุผลไว้ในคำสั่งทางปกครอง
แม้จะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าได้มีการจัดให้มีเหตุผลดังกล่าวในภายหลังแล้วก็เป็นคำสั่งทางปกครองที่สมบูรณ์มีผลบังคับได้
3. การรับฟังคู่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำได้ดำเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลังตามมาตรา 41 (3)
เช่น การไม่ได้ให้โอกาสคู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนอันเป็นสิทธิที่คู่กรณีได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 หากไม่มีการรับฟังเช่นนั้นย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีการรับฟังในภายหลังแล้วย่อมมีผลทำให้เป็นคำสั่งทางปกครองที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย
คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.531/2561 สืบเนื่องมาจากการที่สถาบันการพลศึกษาได้มีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีโอกาสให้ถ้อยคําชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อน กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่สามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระบวนพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยสถาบันการพลศึกษาไม่ได้ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของคำสั่งก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ แม้ภายหลังสถาบันการพลศึกษาจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอีก กรณีจึงไม่อาจแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของคำสั่งได้ ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 คำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4. คำสั่งทางปกครองที่ต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อน ถ้าเจ้าหน้าที่นั้นได้ให้ความเห็นชอบในภายหลังตามมาตรา 41 (4)
คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.958/2556 การออกคำสั่งระงับโฆษณาอาหารของเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการอาหารและยาก่อนซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนออกคำสั่งคณะกรรมการอาหารและยาได้มีความเห็นดังกล่าวกรณีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ได้ทำตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด แต่ต่อมาในการ
ประชุมคณะกรรมการอาหารและยามีมติเห็นชอบให้ระงับโฆษณาผลิตภัณฑ์ของบริษัท อ. กรณีจึงถือว่าคำสั่งระงับการโฆษณาชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 41 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว