การฟ้องเพิกถอนกฎ

กฎไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่ง พ.ร.บ. นี้มุ่งใช้บังคับกับคำสั่งทางปกครองเป็นหลัก ดังนั้น
หากมีการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลที่ถูกกระทบกระเทือนสิทธิหรือหน้าที่ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
1️⃣ แม้การออกกฎอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ผู้ออกกฎก็ไม่จำเป็นต้องให้โอกาสแก่คู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมี
โอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง
2️⃣ บุคคลที่ถูกกระทบกระเทือนสิทธิหรือหน้าที่เนื่องจากการออกกฎ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นได้ทันที โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้
ออกกฎก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 44 ที่ใช้บังคับกับคำสั่งทางปกครอง
3️⃣ ถ้ากฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี บุคคลที่ถูกกระทบ
กระเทือนสิทธิหรือหน้าที่ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ทันที โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นก่อน ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 11(2)
ส่วนคดีพิพาทซึ่งเกิดจากการออกกฎที่ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นคดีที่อยู่
ในอำนาจของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9(1)(3) ซึ่งจะต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น และอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดตามลำดับ