การพิจารณาอุทธรณ์
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 45 “ให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย
ถ้าเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช้กับกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
จากบทบัญญัติมาตรา 45 สามารถแบ่งการพิจารณาอุทธรณ์ได้เป็น 2 ลำดับชั้น
1. อุทธรณ์ชั้นที่หนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองได้รับอุทธรณ์แล้ว ต้องพิจารณาให้เสร็จและแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนต้องแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบและรายงานความเห็นพร้อมด้วยเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น)
2. อุทธรณ์ชั้นที่สอง ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น) ต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก 30 วัน แต่ต้องแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบ 30 วัน ด้วย(รวมแล้วผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาได้ไม่เกิน 60 วัน)